ร้านโชห่วยไทย!!! “รู้สึกอย่างไร เมื่อร้านสะดวกซื้อ ทำได้ทุกอย่าง”

เปิดบทสัมภาษณ์ เจ้าของร้านโชห่วยไทย "รู้สึกอย่างไร เมื่อร้านสะดวกซื้อ ทำได้ทุกอย่าง"

ร้านโชห่วย หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าร้านขายของชำ ถ้าย้อนเวลากลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ผมนึกถึงภาพบรรยากาศร้านขายของที่ในช่วงเช้าและเย็นคับคลั่งไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอย เลือกซื้อของกินและของใช้กันอย่างเนืองแน่นแทบทุกวัน ถึงแม้ช่วงกลางวันผู้คนอาจบางตาไปบ้าง แต่ก็ยังมากพอที่ทำให้พ่อค้าแม่ค้าได้มีกำไร เก็บเงินเอาไว้หมุนเวียนซื้อของมาเพิ่มในวันต่อๆไป

การบริโภคสินค้าที่เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตแบบธรรมดา ซื้อมาเพื่อกินเพื่อใช้ ในยุคสมัยที่ความเจริญยังเข้ามาไม่ถึง จึงเป็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตที่หลายคนเคยสัมผัส และยังคงคิดถึงบรรยากาศเก่าๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วในยุคปัจจุบันนี้อาจไม่มีเหลืออยู่ หรืออาจเหลือน้อยเต็มทีเมื่อมีความเจริญเข้ามา

บรรยากาศของร้านชำที่เงียบกว่าแต่ก่อนมาก


ผมมีโอกาสได้คุยกับเพื่อน ที่เป็นเจ้าของร้านขายของชำเก่าแก่ในชุมชนแห่งหนึ่งเขาบอกว่า เมื่อก่อนขายของดีมากอย่างที่คุณเคยเห็นนั่นแหละ ลูกค้าเข้าร้านตลอด เพราะเมื่อเขาอยากซื้ออยากกินอะไร เขาก็จะมาที่ร้านเรา ่่หรือแม้แต่ร้านค้าเล็กๆร้านอื่น ที่มีของขายไม่มากก็ยังได้กำไรพออยู่กันได้ พอได้เลี้ยงปากท้องไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร ตั้งแต่มีร้านสะดวกซื้อมาเปิดที่ปากซอย หลายอย่างก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป

ร้านค้าเล็กๆทยอยปิดตัวกันไปหมด เพราะขายของไม่ได้ จากเดิมได้กำไรอย่างน้อยเฉลี่ยวันละสี่ห้าร้อยก็ยังพออยู่ได้ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ได้ ลูกค้าไม่ค่อยเข้าร้าน เขาไปเข้าร้านสะดวกซื้อกันหมด  ที่ร้านผมเปิดอยู่ได้ก็เพราะเป็นร้านที่พ่อกับแม่สร้างเอาไว้ ต้องสืบสานต่อจากท่าน แต่ก็ต้องปรับตัวอย่างมาก บางอย่างเคยขายราคานี้ ก็ต้องลดราคาลงมา บางอย่างไม่แบ่งขายก็ต้องแบ่งขาย เพื่อดึงลูกค้าเข้าร้าน จะบอกว่าขายของทุกวันนี้ลำบาก เพราะลูกค้าเข้าร้านน้อย กำไรก็น้อย  เพื่อนผมกล่าว

ถ้าผมจะบอกว่าร้านนี้เป็นเหมือนโลโก้ของคนที่อยู่ในชุมชนแถวนั้นก็คงไม่ผิด เพราะไม่มีใครที่จะไม่รู้จักร้านไอ้แปลก ผมจึงถามต่อว่า รู้หรือยังว่าร้านสะดวกซื้อเขากำลังขยายธุรกิจเพิ่ม อย่างเช่นขายกาแฟสด ขายคุกกี้ หรือที่เพิ่งได้ยินมานี้ก็จะเปิดขายอาหารตามสั่ง และอะไรอีกตั้งหลายอย่าง

เขาก็ทำได้หมดทุกอย่างนั่นแหละ ถ้าเขาจะทำ แต่อยากให้นึกถึงตรงนี้บ้างว่า ประชาชนที่ทำร้านค้าเล็กๆ กว่าจะเก็บเงินทำร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่ หรือร้านอาหารตามสั่งได้ ต้องหาทุน เก็บหอมรอมริบตั้งกี่เดือน กี่ปีจึงจะทำได้ เมื่อคุณนำมาเปิดขายในร้านสะดวกซื้อ นั่นหมายความว่าเขาอาจต้องปิดตัวไป จะให้ร้านเล็กปรับตัวเท่าไรก็คงจะสู้ร้านใหญ่ไม่ได้ จากที่เคยทำงานเก็บเงินเพื่อมาสานฝันทำธุรกิจของตัวเอง ก็ต้องปิดร้านแล้วกลับไปเป็นลูกจ้างของนายทุนเหมือนเดิม มันก็เข้าวังวนเดิมเหมือนตอนเขามาเปิดร้านสะดวกซื้อหน้าซอยใหม่ๆ ที่ทำให้ร้านโชห่วยไทยค่อยๆ ตายไปจากชุมชนของเรา

จะว่าไป สิ่งที่เพื่อนผมพูดมันก็มีเหตุผลนะครับ เพราะผมก็เคยคิดเล่นๆเหมือนกัน แต่ไม่ได้สนใจ แล้วปล่อยมันผ่านไป ก็ผมไม่ใช่คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงน่ะครับ 

ผมมาลองนั่งคิดอีกมุมหนึ่ง ก็พอทราบว่า ปัจจุบันสาขาของร้านสะดวกซื้อผุดขึ้นอย่างกับดอกเห็ด รวมถึงการขยายสินค้าและบริการให้ครอบคลุมตามเทรนธุรกิจในยุคปัจจุบัน สำหรับผู้บริโภคอย่างเราคงไม่ได้รับผลกระทบอะไร กลับพบว่าส่วนใหญ่เลือกเข้าร้านสะดวกซื้อมากกว่าร้านโชห่วยด้วยเช่นกัน ก็ทำไงได้นะ เพราะแม้แต่ผมเองยังเคยหลงกลโปรโมชั่น ส่วนลด ของแถม ที่มากมายซื้อของมากองไว้ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องใช้เลยก็มี

ผมในฐานะของผู้บริโภค ก็ยังคงเลือกซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้าที่ผมพอใจ ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของชำ กาแฟร้านเล็กๆ และร้านค้าอื่นๆ ตามความจำเป็นของสภาพการใช้ชีวิต ณ เวลานั้นๆ เราไม่อาจปฏิเสธที่จะไม่เข้าร้านนั้นร้านนี้ได้เมื่อมีความจำเป็น แต่สำหรับการทำธุรกิจของบริษัทยักใหญ่ ผมว่าน่าจะเหลือพื้นที่ว่าง เอาไว้ให้ธุรกิจเล็กๆของประชาชนได้หาผลกำไรบ้าง อย่างน้อยก็เพื่อให้เงินหมุนเวียนในชุมชนก็ยังดี เพื่อนผมยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า เหลืออะไรไว้ให้ประชาชนอย่างเราทำบ้างเถอะครับ

ลุ๊ค@ME

ความคิดเห็น