สุดยอดแนวคิดหัวเว่ย ลัทธิต่อยอด เราไม่จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมเองทั้งหมด

"ถ้าต้องทำทุกอย่างเอง เราคงได้สิทธิบัตร แต่ของที่ทำออกมาคงไม่ทันกับเวลาและความต้องการของตลาด กำลังแข่งขันด้อยกว่าทั้งคุณภาพและปริมาณ นวัตกรรมแบบนี้จะมีประโยชน์อะไร"
คำกล่าวของ เหรินเจิ้งเฟย ประธานบริษัทหัวเว่ย อ้างอิงจากหนังสือ จากมดสู่มังกร ที่เขียนโดย หยางเซ่าหลง



ผมหยิบยกเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังก็เพราะว่า ผมพยายามเขียนเว็บแอปพลิเคชั่นของตัวเองเพื่อช่วยให้งานของลูกค้าเป็นไปอย่างราบรื่นและทันสมัย ในระหว่างที่ผมเพิ่งเริ่มต้นกลับพบว่าคู่แข่งรายอื่นๆ พัฒนาระบบนี้ไปไกลมากจนผมอาจตามไม่ทัน

ผมคิดและพยายามอยู่นานปีแอปพลิเคชั่นดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้า อีกมุมหนึ่งพบว่าฝ่ายขายปิดการขายลูกค้าใหม่ได้น้อยมาก เพราะความต้องการด้านเทคโนโลยีที่ลูกค้าต้องการ บริษัทผมไม่มีให้ ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปบริษัทผมคงต้องปิดตัวลงอย่างแน่นอน

คำกล่าวสั้นๆของคุณ เหรินเจิ้งเฟย จุดความคิดให้ผมหยุดทบทวนตัวเอง ซึงพบว่าปัญหาใหญ่ที่สุดตอนนี้คือ ถึงแม้ผมจะเขียนแอปพลิเคชั่นจนสำเร็จ ก็ไม่คงทันกับความต้องการของตลาด ผมจึงหาทางออกด้วยการนำแนวคิด "ลัทธิต่อยอด" ที่หัวเว่ยเคยใช้ และเชื่อว่าจนถึงปัจจุบันก็ยังใช้อยู่ มาลองใช้กับตัวเองบ้าง

นวัตกรรมคือการทำโดยยืนบนบ่าของคนอื่น ดูดซับผลสำเร็จอันงดงามของผู้อื่นตลอดเวลาเหมือนฟองน้ำ โดยมิใช่ปิดกั้นตัวเองด้วยการสร้าง "นวัตกรรม" cr.เหรินเจิ้งเฟย

ผมเริ่มค้นหาพาร์ทเนอร์เพื่อที่จะนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบที่ผมมีอยู่ โดยเริ่มจากการสำรวจราคาค่าเช่าแอป ซึ่งจะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม เมื่อนำมารวมกับค่าบริการของผมแล้วไม่แพงจนเกินไป จากนั้นจึงพิจารณาขีดความสามารถของแอปพลิเคชั่นว่าตรงตามความต้องการของลูกค้าหรือไม่ ใช้เวลาเพียงไม่นานผมก็พบคู่ค้า และได้ตกลงทำธุรกิจร่วมกันอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้เอง

แนวคิดลัทธิต่อยอดช่วยให้ผมคลายความกังวลเรื่อง ข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยีของบริษัทได้อย่างมาก เราไม่จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมด้วยตัวเอง แต่สามารถนำเอานวัตกรรมที่มีอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์แบบมาปรับให้เข้ากับธุรกิจของเรา เท่านี้ก็ทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ไม่เสี่ยงที่จะถูกเขี่ยตกชั้นจนต้องปิดกิจการ 

ผมไม่แปลกใจเลยนะครับว่า หัวเว่ย ทำไมถึงก้าวขึ้นอันดับต้นๆ ด้านเทคโนโลยีสื่อสารของโลกได้อย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งอาจมาจากแนวคิดลัทธิต่อยอดที่ใช้ได้จนถึงปัจจุบัน อย่างเช่นสมาร์ทโฟนหัวเว่ย เลือกใช้ระบบปฏิบัติการ android ที่มีความเสถียรและใช้งานได้ดี แทนการเขียนระบบปฏิบัติการด้วยตนเอง ซึ่งอาจใช้เวลานานและไม่ทันต่อความต้องการของตลาดก็เป็นได้

ข้อมูลอ้างอิง : จากหนังสือ จากมดสู่มังกร ที่เขียนโดย หยางเซ่าหลง

ลุ๊ค@ME

ความคิดเห็น