6 หลักการพิจารณาเรื่อง "ค่าจ้าง" ที่ พนักงานทุกคนต้องรู้!!

หลักการพิจารณาเรื่อง "ค่าจ้าง" ที่พนักงานทุกคนต้องรู้!!


คุณทราบหรือไม่ครับว่า ค่าจ้างเป็นฐานในการคิดประกันสังคม ค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด เงินชดเชย และอื่นๆ ดังนั้น  ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน หรือฝ่าย HR ต้องตีความให้ออกว่า เงินที่ได้รับ หรือจ่ายให้พนักงานนั้นอะไรคือ “ค่าจ้าง” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ 2541 ก่อนเข้าสู่หลักการพิจารณา เรามาดูกันก่อนครับว่า ทำไมเราต้องทราบว่าอะไรคือ ค่าจ้าง!!
"
ทำไมต้องพิจารณาว่าอะไรคือ ค่าจ้าง!!
"
ประเด็นหลักเลยก็เพราะ ค่าจ้างเป็นฐานในการคำนวณหลายอย่างเช่น ประกันสังคม ค่างล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาวันหยุด และอื่นๆ ผมขอยกตัวอย่างนะครับ ถ้าเราต้องการหาค่าจ้างต่อวันเพื่อคำนวณโอที โดยทั่วไปจะนำ เงินเดือน หาร สามสิบ เท่ากับ ค่าจ้างต่อวัน แต่ถ้ามีเงินได้อย่างอื่น ที่เมื่อเราพิจารณาดูแล้วว่าเป็น "ค่าจ้าง" ก็ต้องนำเงินนั้นมารวมกับ "เงินเดือน" เพื่อคำนวณค่าจ้างต่อวันด้วยครับ เงินเดือน บวก "ค่าจ้างอื่นๆ" หาร สามสิบ เท่ากับ ค่าจ้างต่อวัน ซึ่งจะทำให้ฐานค่าจ้างต่อวันของเราเพิ่มขึ้น การหักประกันสังคมจะเพิ่มขึ้น แต่เราจะได้รับโอทีเพิ่มขึ้น ได้รับเงินค่าชดเชยมากขึ้น เป็นต้นครับ
"
6 หลักการพิจาณาเรื่อง "ค่าจ้าง"
ที่พนักงานทุกคนต้องรู้!!
"
ค่าจ้าง คือ “เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอนแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง”

การจ่ายค่าตอบแทนมี 2 แบบคือ
1. การจ่ายค่าตอบแทนตามระยะเวลาที่ลูกจ้างทำงาน เช่น จ่ายเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน
2. การจ่ายตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ เช่น จ่ายค่าเย็บผ้าชิ้นละ 20 บาท

หลักการพิจารณา :
1. ค่าจ้างต้องเป็น “เงิน” จะจ่ายเป็นสิ่งของแล้วตีราคาเป็นเงิน ไม่ได้
2. ค่าจ้างต้องเป็นเงินของนายจ้าง จะเป็นเงินที่จ่ายโดยบุคคลอื่นไม่ได้ เช่น ลูกค้าให้ทิป ไม่ถือเป็นค่าจ้างเพราะไม่ได้เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้าง
3. ค่าจ้างเป็นฐานในการคำนวณเงินอื่นๆ ได้แก่ ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย เงินสมทบกองทุนเงินทดแทน เงินสมทบประกันสังคม เป็นต้น
4. ค่าจ้างต้องเป็นเงินที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงจ่ายกันตามสัญญาจ้าง แต่ต้องไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำนะครับ
5. ค่าจ้างเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงาน หรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงาน เช่น นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างทำงานวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.00 - 17.00 น. หยุดเสาร์-อาทิตย์ ดังนั้นวันทำงานปกติก็คือ วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.00 - 17.00 น. ครับ
6. ค่าจ้างเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันลา ที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เช่นพนักงานรายเดือนที่ไม่ต้องทำงานวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ได้เงินเต็มเดือนครับ

สำหรับเนื้อหาที่ผมนำมาเขียนคือบางส่วนในความหมายของคำว่าค่าจ้าง และเป็นเพียงแนวทางที่ผมสรุปมาเท่านั้น เนื่องจากสาระสำคัญในทางกฎหมายมีค่อนข้างมาก จึงแนะนำให้ศึกษาข้อมูลจากแหล่งอื่นประกอบเพื่อนำมาวิเคราะห์และนำไปใช้งานได้อย่างถูกต้องต่อไปครับ

ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดย รองศาตราจารย์ตรีเนตร สาระพงษ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ลุ๊ค@ME

ความคิดเห็น